วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมื่อข้าวยาก..แต่หมากยังไม่แพง

ภาคภูมิ  แสวงคำ


      สถานการณ์เศรษฐกิจปี 2555   นับแต่วิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและอเมริกา  รวมถึงมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ประเทศไทยพลอยได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้   หนำซ้ำนโยบายปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ใน  7 จังหวัดนำร่องเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทยอยปรับขึ้นราคา  

      จนเมื่อเกิดวลีสะท้านเมือง "ของแพง ประชาชนรู้สึกไปเอง" ซึ่งคาดว่าจะฮอตฮิตไม่แพ้วลี "เอาอยู่" ส่วนฝ่ายค้านเองก็ได้ทีเสนอแคมเปญ"แพงทั้งแผ่นดิน"จนเกิดเวทีตอบโต้สาดโคลนรายวันกันไปมาทั้งสองฝ่าย นับเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของละครหลังข่าว เอ๊ย! ของแวดวงการเมืองไทย

     ทว่าในอีกมุมหนึ่งของโลกใบเดียวกัน  แรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะแรงงานพม่ามอญจำนวนมากในประเทศไทย แม้จะพลอยได้รับส้มหล่นจากนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างวันละ300 บาท  แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่ต่างจากพี่น้องคนไทย  จากเดิมที่ต้องรัดเข็มขัดประหยัดรายจ่ายมากที่สุด ทั้งการอยู่รวมกันหลายครอบครัวในห้องเช่าเล็กๆ  ต้องกินอยู่แบบจำกัดจำเขี่ย รวมถึงภาระที่ต้องส่งเงินให้ครอบครัวในประเทศพม่า

   เท่าที่มีโอกาสพูดคุยกับแรงงานมอญพม่าส่วนหนึ่งในสมุทรสาคร ได้ทราบมุมมองน่าสนใจว่าค่อนข้างชื่นชอบรัฐบาลสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เป็นพิเศษ 

    ไม่ใช่เพราะรัฐบาลชุดดังกล่าวปล่อยเงินกู้แก่ประเทศพม่าจำนวน 4 พันล้านบาท แต่เป็นเพราะยุคนั้น(ตั้งแต่ปี 2547) มีการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามทำให้พวกเขาพอมีสิทธิมีสถานะ หรือลดการถูกเอารัดเอาเปรียบเมื่อมีบัตรประจำตัว


       เหตุผลประการต่อมาคือ ราคาข้าวของยุคโน้น ไม่แพงเท่าสมัยนี้    ซึ่งเป็นวิธีคิดตรงไปตรงมาจากผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้


       เรียกว่าได้รับคะแนนนิยมจากแรงงานข้ามชาติไปโดยไม่รู้ตัว


หมากของคนมอญพม่า   ราคายัง "เอาอยู่"

 

ภาพโดยวิโรจน์  ควงยุตมงคล

       จากการสำรวจชุมชนในสมุทรสาครที่มีแรงงานจากพม่าอาศัยหนาแน่น ไม่ว่าสะพานปลา มหาชัยนิเวศน์ ตลาดกุ้ง นาดี ท่าฉลอม ฯลฯ (ที่ภาครัฐระบุว่ามี 32 ชุมชนแรงงานต่างด้าว แต่ภาคประชาสังคมบางแห่งเผยว่ามีชุมชนแรงงานข้ามชาติกว่า 400 ชุมชนทั้งจังหวัด)


       “หมาก”(ภาษาพม่าออกเสียงว่า "กวูน์หย่า) เป็นสินค้าที่ขายดีทั่วไป  ด้วยการเคี้ยวหมากจัดเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่คนหนุ่มสาวรุ่นก่อนล้วนฟันดำ เพราะนิยมทานหมากทั้งสิ้น  ปัจจุบันหลงเหลือเพียงคนพม่าที่ดูจะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นิยมทานหมากกว่าเพื่อนบ้านชาติอื่น 

       หมากเดินทางไกลจากพม่า ผ่านมาทางอำเภอสังขละบุรี กาญจนบุรี   จนมาถึงตัวเมืองชั้นใน สนนราคาของหมากยังไม่เปลี่ยนแปลงหรือแพงเกินไป   เพียง 4 คำ จ่าย 5 บาท 

      ความแตกต่างของหมากแต่ละเจ้า อยู่ที่สูตรในการห่อว่าใส่ส่วนผสมใดเข้าไปบ้าง เช่น ปูนขาว หรือยาสูบ   

     ส่วนแฟนพันธุ์แท้หมากนั้น ได้แก่แรงงานผู้ชายชาวมอญ กะเหรี่ยง พม่าในเมืองไทยที่สัดส่วนความนิยมทานหมากมากกว่าผู้หญิง โดยผู้ชายอายุเฉลี่ย 25 ปีขึ้นไป ส่วนแรงงานหญิงเฉลี่ยมีอายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป  ขณะที่แรงงานอายุไม่ถึง 20 ปีที่เติบโตในเมืองไทยแต่เล็กไม่พบว่าทานหมากนัก ด้วยอาจเพราะซึมซับกับวิถีชีวิตกินอยู่อย่างไทย  และพูดไทยคำสลับกับภาษาพ่อแม่คำ 

พื้นที่ของหมากในสังคมไทย

             เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง  “หมาก” กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมไทย จุดเปลี่ยนสำคัญได้แก่ยุค“เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” ที่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ  ประกอบกับพระราชกฤษฎีกากำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 เพื่อดูแลควบคุมประชาชนด้านวัฒนธรรมอันนำไปสู่ข้อกำหนดในเรื่องการแต่งกาย การห้ามอาบน้ำในที่สาธารณะ รวมถึงการห้ามกินหมากพลู  (ด้วยขัดกับแนวทางพัฒนาประเทศให้เป็นอารยะอย่างตะวันตก) เพราะทำให้คนกิน "ฟันดำ" กลายเป็นผู้ไม่มีวัฒนธรรม  เป็นที่น่ารังเกียจ

             ทั้งนี้  นโยบายชักชวนให้คนเลิกกินหมาก มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2482  ภายหลังได้ออกคำสั่งห้ามกินหมากเด็ดขาดในปี 2486  และส่งผลกระทบให้มีการสั่งห้ามประชาชนกินหมากในสถานที่ราชการ  ห้ามขายพลูในตลาด ห้ามปลูกต้นพลู ฯลฯ จนผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้นพากันตำหนิท่านผู้นำในทางเสียๆหายๆ 

           ( ปัจจุบัน พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2485 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 )
 
        มรดกจากอดีตส่งผลให้ความนิยมทานหมากของคนไทยลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียงพื้นที่เล็กๆทางวัฒนธรรมที่พอปรากฏประเพณีเจ้าบ่าวยกขันหมากไปสู่ขอเจ้าสาวในพิธีแต่งงาน เพื่อเป็นการแสดงความเคารพผู้ใหญ่  

           วัยรุ่นไทยยุคนี้คงรู้ จักแต่หมากที่เป็นหมากฝรั่งในร้านสะดวกซื้อ 

ผลกระทบของหมากกับแรงงานข้ามชาติ

         ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือแรงงานที่กินหมากบ้วนน้ำหมากลงพื้นถนน หรือตามห้องเช่าหอพัก  เจ้าของหอพักบางแห่งที่กวดขันเรื่องความสะอาดจะออกกฎห้ามบ้วนน้ำหมาก หรือถึงขั้นให้ย้ายที่อยู่  แต่หลายแห่งกลับปล่อยปละละเลย ไม่เข้มงวดกวดขัน หรือจัดถังขยะไว้ให้ นอกจากจ่ายค่าเช่าให้ตรงเวลา  สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติจึงแลดูสกปรกในสายตาของคนไทย

        ขณะที่หน่วยงานสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล มูลนิธิหลายแห่งพยายามรณรงค์ให้ความรู้ในการรักษาความสะอาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพอนามัยและป้องกันโรคติดต่อ แต่อุปสรรคก็คือแรงงานมักเคลื่อนย้ายที่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่เข้ามาอยู่ใหม่และยังมาทุกวัน จึงเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป

ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคนกิน คนขายหมาก

       พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นเรียบร้อยของบ้านเมือง  พ.ศ. 2535  บัญญัติว่า

มาตรา 31 "ห้ามมิให้ผู้ใด (1) บ้วนหรือถ่มน้ำลาย เสมหะ บ้วนน้ำหมาก สั่งน้ำมูก เทหรือทิ้งสิ่งใดๆ ลงบนถนนหรือบนพื้นรถหรือพื้นเรือโดยสาร


มาตรา 54 " ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา... 31 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท"



ป้ายภาษาพม่าในโรงพยาบาลเอกชนจังหวัดสมุทรสาคร
          


ป้ายห้ามบ้วนน้ำหมาก..ผลิตโดยมูลนิธิรักษ์ไทย สมุทรสาคร


       ที่ผ่านมามีรายงานการจับกุมแรงงานข้ามชาติข้อหากิน (และบ้วนน้ำ)หมากเช่นกัน  หากเจ้าหน้าที่เข้าไปชุมชนแล้วพบเข้า เท่ากับว่าวันนั้นหมากจะมีราคาแพงถึงคำละ 2,000บาท(ค่าปรับที่ไม่มีใบเสร็จ)  

      ส่วนอาชีพขายหมาก..พ่อค้าแม่ค้าล้วนเป็นคนมอญพม่าทั้งสิ้น

     หากว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว ค้าขายนั้นถือเป็นอาชีพต้องห้ามสำหรับแรงงานข้ามชาติในปัจจุบัน  ด้วยยังไม่มีกฎกระทรวงที่จะกำหนดอาชีพที่ทำได้ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ออกมา

     ทุกวันนี้  พ่อค้าแม่ค้าต่างชาติจึงต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้มีอำนาจเป็นพันเป็นหมื่นบาทเพื่อแลกกับการได้รับสิทธิค้าขาย ทั้งหมากพลู ผักผลไม้ ขนมจีนพม่า โรตี  ฯลฯ  หลายคนถูกเจ้าหน้าที่จับแล้วก็ปล่อย..จับแล้วก็ปล่อยออกมาขาย...อยู่อย่างนี้ไม่จบสิ้น ตราบที่สังคมยังชินชากับวงจรทุจริตรีดไถเหล่านี้

   หมากอาจไม่ถือเป็นดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจ   ด้วยหมากไม่ใช่สินค้าจำเป็นหรือสินค้าควบคุมที่รัฐต้องตรึงราคาหรือประกาศรับซื้อ   แต่ในยุคที่ข้าวแกงแพงขึ้นทุกที   ตราบใดที่ราคาหมากยังไม่ปรับขึ้นเช่นสินค้าอื่น  แรงงานข้ามชาติก็พอจะแสวงหาความสุขเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ได้บ้าง.


เอกสารประกอบการเขียน

  1. ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ เผือกสม "รัฐนิยม"   สำนักวิชาศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

  2. วัฒนธรรมการ "เคี้ยวหมาก" ของชาวพม่า ที่มาของ "ร้านหมากด่วน" ที่มีให้พบเห็นอยู่แทบจะทุกตารางเมตรในเมืองต่างๆ